Keyword
ลงทุนก้าวแรก

สิ่งที่นักลงทุนควรรู้เมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการลงทุนใน Cryptocurrency

By InnovestX|5 Aug 24 8:00 AM
(Web-thubnail)-990x740px-20240910094845
สรุปสาระสำคัญ
ท่ามกลางกระแสการเงินในยุคดิจิทัล Cryptocurrency หรือ สกุลเงินดิจิทัล ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในโลกของการลงทุนยุคใหม่ ด้วยศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่มีโอกาสในการทำกำไรให้กับนักลงทุนได้อย่างมากมาย Cryptocurrency จึงเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดึงดูดสายตานักลงทุนได้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ Cryptocurrency ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมานี้

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังของโอกาสในการทำกำไรที่เชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน ยังมีความเสี่ยงหลายประการที่ถูกซ่อนไว้โดยที่ไม่อาจมองข้ามได้ นักลงทุนที่สนใจจะก้าวเข้าสู่สนามของการลงทุนใน Cryptocurrency จึงจำเป็นต้องศึกษาความเสี่ยงเหล่านี้ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนในโลกของสกุลเงินดิจิทัลที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและความผันผวนนี้


1. ความผันผวนของราคา

ความผันผวนของราคาคริปโต

 

ความผันผวนของราคาในตลาด Cryptocurrency นั้นมีระดับสูงมากอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงกรณีของ Bitcoin ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด ในปี 2021 Bitcoin ได้แสดงให้เห็นถึงความผันผวนอย่างรุนแรงในช่วงระยะเวลาอันสั้น กล่าวคือ มูลค่าของ Bitcoin ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม สู่ระดับสูงสุดที่ประมาณ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน ก่อนที่จะปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วกลับมาสู่ระดับประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม

เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญของตลาด Cryptocurrency ซึ่งนักลงทุนควรตระหนักและพิจารณาอย่างรอบคอบในการตัดสินใจลงทุน โดยนักลงทุนที่ลงทุนใน Cryptocurrency ควรจะต้องเป็นนักลงทุนที่มีระดับการยอมรับความเสี่ยง (Suitability Test) ได้ในระดับสูง หรือหากเป็นนักลงทุนประเภทยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำก็ไม่ได้หมายความว่าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ไม่ได้ แต่หมายถึงการลงทุนใน product ที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งรวมถึง Cryptocurrency นั้นควรมีสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับ portfolio โดยรวม เช่น หากนักลงทุนยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำหรือปานกลางค่อนข้างต่ำ อาจจะมีการจัด portfolio ของตนเองให้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงไม่เกิน 5% ของมูลค่า portfolio ของตนเอง

2. การถูกแฮกข้อมูลและการฉ้อโกง

การถูกแฮก

การบริหารจัดการและการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Wallet) เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีรายงานการละเมิดความปลอดภัยทางไซเบอร์และการทุจริตทางการเงินอย่างต่อเนื่อง กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือเหตุการณ์ของ Mt. Gox ในปี 2014 ซึ่ง Mt. Gox เป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน Bitcoin ที่มีปริมาณธุรกรรมสูงที่สุดในขณะนั้น ได้ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีทางไซเบอร์ผ่านการแฮกข้อมูล ส่งผลให้สูญเสีย Bitcoin เป็นจำนวนมากกว่า 850,000 BTC นำไปสู่การล้มละลายของแพลตฟอร์มและเกิดความเสียหายทางการเงินอย่างมหาศาลแก่นักลงทุน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนถึงความจำเป็นในการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และเพิ่มมาตรการในกำกับดูแลอย่างเข้มข้นในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล

การเก็บรักษา Cryptocurrency อย่างไม่เหมาะสมอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการสูญเสียเหรียญได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ขาดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ รวมถึงการจัดเก็บรหัสส่วนตัว (Private Key) อย่างไม่รัดกุมหรือเก็บเอาไว้อย่างไม่ปลอดภัย กรณีศึกษาที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการเก็บรักษา Cryptocurrency คือเหตุการณ์ของ James Howells ในปี 2013 เมื่อ James Howells ได้ทำการทิ้งฮาร์ดไดรฟ์ที่มี Private Key ของ Bitcoin มูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในถังขยะโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงและกู้คืนเหรียญเหล่านั้นได้ จึงสูญเสีย Bitcoin ไปทั้งหมดด้วยมูลค่ามหาศาล

นอกเหนือจากการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลในยุคดิจิทัล แต่เหตุการณ์นี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ในโลกของ Cryptocurrency ซึ่งความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจนำไปสู่ผลกระทบที่ไม่สามารถแก้ไขได้ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เราลงทุน รวมถึงวิธีการจัดเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้ปลอดภัยรวมถึงมีความระมัดระวังและรอบคอบในการเก็บรักษา private key หรือสอบทานการส่งคำสั่งซื้อ ขาย ฝาก ถอน ให้เป็นไปอย่างรอบคอบก่อนดำเนินการธุรกรรมต่างๆ

3. แนวทางการกำกับดูแล Cryptocurrency

แนวทางการกำกับดูแล Cryptocurrency

นโยบายกำกับดูแลและกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ตั้งแต่การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดไปจนถึงการห้ามใช้ Cryptocurrency โดยสิ้นเชิง กรณีศึกษาที่สำคัญคือมาตรการ ที่ไม่สนับสนุน Cryptocurrency ของสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนมิถุนายน 2021 เมื่อรัฐบาลกลางประกาศข้อห้ามอย่างเด็ดขาดต่อกิจกรรมการทำเหมืองและการซื้อขาย Cryptocurrency ส่งผลให้แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนและเหมือง Cryptocurrency จำนวนมากต้องย้ายฐานการดำเนินงานออกนอกประเทศ ซึ่งผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวไม่ได้อยู่เพียงแค่ประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อตลาด Cryptocurrency ทั่วโลก จากการลดลงของมูลค่า Cryptocurrency อย่างฉับพลัน โดยเหตุการณ์นี้ได้สร้างความเสียหายทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญทำให้นักลงทุนต้องเผชิญกับการขาดทุนเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางการกำกับดูแลการซื้อขาย Cryptocurrency ในประเทศไทย นั้น สำนักงาน ก.ล.ต. มีการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล โดยนักลงทุนไทยสามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านการซื้อขายกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ตลอดจนเพื่อให้การซื้อขายเป็นธรรมและโปร่งใส โดยนักลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการรายต่างๆที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานได้ที่ รายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาต / ได้รับความเห็นชอบ

4. การถูกแฮกข้อมูลและการฉ้อโกง

ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี

แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ Cryptocurrency จะได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยในระดับสูง แต่ด้วยความเป็นเทคโนโลยีใหม่ จึงยังคงมีความเสี่ยงที่ไม่อาจมองข้าม กรณีศึกษาที่สะท้อนถึงช่องโหว่นี้ ได้แก่ เหตุการณ์การละเมิดความปลอดภัยของโครงการ DAO (Decentralized Autonomous Organization) ในปี 2016 โดยโครงการดังกล่าวนี้เป็นระบบการลงทุนแบบกระจายศูนย์บนเครือข่าย Ethereum ได้ถูกโจมตีทางไซเบอร์ผ่านการแฮกข้อมูล ส่งผลให้ Ether ถูกขโมยไปจำนวนมาก สถานการณ์นี้นำไปสู่การตัดสินใจที่สำคัญในการแยกเครือข่าย (Hard Fork) เพื่อฟื้นฟูความเสียหายและคืนเงินให้แก่นักลงทุน ทำให้เกิดการแยกตัวของเครือข่าย Ethereum ออกเป็น Ethereum (ETH) และ Ethereum Classic (ETC) เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในเครือข่ายของ Cryptocurrency เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความท้าทายในการบริหารจัดการวิกฤตในระบบการเงินแบบกระจายศูนย์อีกด้วย

แม้ว่าการลงทุนใน Cryptocurrency จะนำเสนอโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติ แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่ต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างระมัดระวังและรอบคอบ นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษา วิเคราะห์และติดตามพัฒนาการ ข่าวสารเกี่ยวกับ Cryptocurrency อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้เครื่องมือการลงทุนที่เหมาะสมร่วมกับการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับการมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปัจจัยทางเศรษฐกิจ กฎหมายหรือกฎระเบียบที่มีผลต่อมูลค่าของ Cryptocurrency จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดทอนความเสี่ยง และเป็นรากฐานสำหรับการตัดสินใจลงทุนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จจากการลงทุน ใน Cryptocurrency ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

แหล่งข้อมูล:

• Tradingview

• CoinMarketCap

• CNBC: Crypto Hacks

• Reuters: Crypto Regulation

• MIT Technology Review: Blockchain Security

เมื่อศึกษาจนเข้าใจในลักษณะที่สำคัญของ Cryptocurrency แล้ว จะเห็นได้ว่า Cryptocurrency ก็จัดเป็นสินทรัพย์ทางเลือกอีกประเภทหนึ่งที่นักลงทุนอาจนำมาพิจารณาจัดสรรพอร์ตการลงทุนของตนเอง เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยนักลงทุนที่สนใจสามารถศึกษาและทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การซื้อขาย Cryptocurrency และเริ่มต้นลงทุนได้ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน InnovestX ที่รวมจักรวาลการลงทุนมาอยู่ในมือคุณ นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้หลากหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งหุ้น และกองทุนรวมต่างประเทศ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฟรีได้แล้ววันนี้ทั้งระบบ iOS และ Android

พิชิตเป้าหมายทางการเงินได้อย่างที่ตั้งใจ เริ่มลงทุนกับ InnovestX ได้แล้ววันนี้ แอปเดียวครบทุกจักรวาลการลงทุน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล contact@innovestx.co.th หรือ เฟซบุ๊ก InnovestX

คำเตือน: คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล มีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

Author
InnovestX

11

Most Read
1/5
Related Articles
Most Read
1/5